ยอมรับความแตกต่าง

ผู้เขียนนอกจากทำหน้าที่เป็นโค้ชในกระบวนการ Action Learning แล้ว ยังทำหน้าที่เป็น Team Member ด้วยเมื่อมีโอกาส เนื่องด้วยการเรียนรู้เป็นหัวใจสำคัญของกระบวนการนี้ โค้ชของเราทุกคนจะยินดีที่จะเป็นผู้เรียนไม่ว่าจะเรียนจากบทบาทอะไร และการเป็นสมาชิกที่ร่วมทำงานจริงจังกับทีม ก็เป็นการเรียนรู้ที่ดีมากด้วย

ครั้งหนึ่งที่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกทำงาน ผู้เขียนได้มีประสบการณ์ตรงที่มาเป็นหัวข้อในวันนี้ คือ การยอมรับความแตกต่างหลากหลาย ไม่ยึดติดกับแต่ความคิดของตัวเราเอง เพื่อที่จะเปิดรับสิ่งใหม่ ๆ และทำให้เกิด Flow สำหรับทีม ไม่เช่นนั้นคำตอบใหม่ก็จะไม่เกิด

ผู้เขียนรู้หลักการนี้ดีและเป็นผู้ควบคุมวงตอนเป็นโค้ชเองจากหลักการนี้ (และอื่น ๆ ) หลายครั้ง แต่เป็นธรรมดาที่ย่อมให้ประสบการณ์ที่แตกต่างไปเป็นอย่างมากกับครั้งนี้ พูดง่าย ๆ ก็คือ ถ้าเราดูอยู่ (และไม่ได้ทำเอง) มันก็ง่าย เมื่อไรที่เราต้องปฏิบัติแล้วล่ะก็ต้องใช้พลังมากเลยทีเดียว

ผู้เขียนเลือก Competency หนึ่งในการเข้า Action Learning ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่อยู่คนละขั้วกับเพื่อนสมาชิกอีกท่านหนึ่ง (ครั้งนั้นเรามีทั้งหมด 6 คน) คงพอเดากันได้ว่าเวลาถามคำถาม ทั้งพลังงาน ทิศทางของการสืบค้น และโฟกัส ก็เลยต่างกันมากเช่นกัน ขอเปรียบการใช้คำถามกับการยิงธนู ซึ่งเป็นการยิงแบบไร้ทิศทาง ไม่พุ่งตรงไปที่เป้าหมายเดียวกันเลย ยิ่งต่างคนต่างยิง ยิ่งเริ่มสับสนว่าเป้าหมายอยู่ที่ไหนใน Session เพราะพอคำตอบเริ่มจะเปิดทางให้กับฝั่งเรา สมาชิกอีกท่านก็กลับพาไปอีกทาง และเป็นเช่นเดียวกันสำหรับฝั่งเขาด้วย

ผู้อ่านคงพอมองเห็นความโกลาหลที่เกิดขึ้นได้ และมักเกิดเหตุการณ์แบบนี้บ่อยครั้งใน Session ของพวกเราเสียด้วย เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องไม่ดี หรือสร้างความขัดแย้ง/ขัดขากันแต่อย่างใด แต่คือโอกาสที่เราจะเรียนรู้ที่จะฟังความต่าง และฟังอย่างแท้จริง

การดึงดันที่จะให้ลูกธนูเข้าเป้าที่เราเห็น โดยละเลยลูกธนูของทีมที่ยิงออกไปที่เป้าหมายที่เขาเห็น ไม่ทำให้เราค้นพบปัญหาและทางออกได้เลย ท่านอาจจะพอจะสะท้อนถึงการทำงานของท่านกับทีมได้ว่า มีลักษณะเช่นนี้บ้างหรือไม่ ? ผู้เขียนมองเห็นภาพสะท้อนชัดเพราะเคยทำงานกับองค์กรและทีมหลายทีมหลาย ๆ ทีม นี่เป็นปัญหาคลาสสิคและอมตะซึ่งทำท่าจะอยู่กับคนทำงานนิรันดร์กาลเสียด้วย

ในครั้งนั้น ด้วยกฎพื้นฐานง่าย ๆ เพียง 2 ข้อ (จะพูดต่อเมื่อตอบคำถามเท่านั้น และโค้ชมีสิทธิ์แทรกแซงเพื่อการเรียนรู้) และคำถามง่าย ๆ ที่ทรงพลังว่า “พวกเราคิดว่าปัญหาของ Problem Presenter คืออะไร” ทำให้ผู้เขียนและสมาชิกทุกคนปรับโฟกัสใหม่ ตระหนักรู้ว่าหน้าที่และโฟกัสของเราในกระบวนการคืออะไร ซึ่งแน่นอนว่าย่อมไม่ใช่การหาคำตอบไปในทางที่ผู้เขียนมองเห็น หากผู้เขียนยืนหยัดเพื่อตัวเอง และคนอื่น ๆ ก็ทำแบบเดียวกัน จนจบก็จะไม่ได้คำตอบที่เป็นประโยชน์อะไรเลย

“ถ้าเช่นนั้น การเป็นสมาชิกที่ดีคือต้องไม่ยืนหยัดใช่หรือไม่ ?”

ไม่ใช่อย่างแน่นอน ผู้เขียนและสมาชิกยังยืนหยัดในมุมที่ตัวเองเห็น (ทั้งจากประสบการณ์ และมุมมองจาก Competency ที่เลือก) และแชร์ออกมาอย่างเปิดเผยในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย การทำแบบนี้ทำให้เป็นประโยชน์มาก เนื่องจากเราได้รับฟังกันอย่างเต็มที่ ไม่ต้องคอยปกป้องความคิดเห็นเราว่าจะถูก/ผิดอย่างไร และเมื่อได้ฟัง สมองก็เปิด ใจก็เปิด ยอมรับกับข้อมูลใหม่ มุมที่แตกต่างได้

ผู้เขียนมารู้ตัวอีกทีตอนที่โค้ชถามว่า “การทำงานร่วมกันของทีมเป็นอย่างไร”

ทั้งผู้เขียนและสมาชิกต่างตอบว่า “ทำงานร่วมกันได้ดี” แสดงว่าพวกเราพอใจทั้ง ๆ ที่คำถามโฟกัสไปคนละจุด และเรื่องราวเมื่อดูเผิน ๆ ไม่ได้ปะติดปะต่อ จนโค้ชก็แปลกใจเพราะมองภายนอกเหมือนเราไม่เข้ากัน หากแต่ผู้เขียนสัมผัสได้ว่าทุกคนตอบด้วยความจริงใจ เมื่อเรารู้โฟกัสของทีม เรารู้ได้เองว่าจะปรับความคิด ทัศนคติได้อย่างไรเพื่อกลับมาสู่เส้นทาง แม้ในเวลาพบกับความต่างที่เป็นคนละขั้วกัน

จุดนี้ผู้เขียนขอยืนยันว่าการอยู่ในกติกาง่าย ๆ นี้ มีผลอย่างน่าอัศจรรย์

เมื่อเราได้ Reflect กันท้ายชั่วโมงนั้น ผู้เขียนชื่นชมเพื่อสมาชิกที่เลือก Competency คนละขั้วอย่างจริงใจ เมื่อฟังดี ๆ แล้วคำถามของเขาเปิดเผยข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับกลุ่มมาก ทำให้เราได้รับรู้ว่ามีอะไรอีกบ้างที่เราควรคำนึงถึง และทำให้การทำงานไม่เอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง

จนท้ายสุด ผู้ที่เป็น Problem Presenter ได้ประโยชน์จากมุมมองที่ต่างกันของพวกเรา ผู้เขียนมานึกย้อนดูว่าหากเราเห็นพ้องต้องกัน ถ้อยทีถ้อยอาศัย หรือตาม ๆ กันไปแล้ว ก็คงไม่ทำให้เกิดผลเช่นนี้

บรรทัดสุดท้ายผู้เขียนอยากให้เป็นการ Reflect จากผู้อ่านบ้างค่ะ ว่า “ท่านเห็นประโยชน์ตรงนี้อย่างไร ?”


นพวรรณ โพสพสวัสดิ์

Certified Action Learning Coach, WIAL

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *