เกิดจากการรวมตัวของคนตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อทำงานบางอย่างให้ลุล่วง หรือสร้างผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยมไปกว่าการทำงานคนเดียว การทำงานเป็นทีมจึงเป็นเรื่องท้าทาย และสร้างพลังไปในตัวหากทำได้สำเร็จตามที่ตั้งเป้าหมาย แต่ก็ไม่ง่ายนักที่คนจำนวนมากกว่าหนึ่งจะทำงานกลมกลืน Flow ไปบนสิ่งแวดล้อมที่ผันแปรไปในทุกๆวันที่ทำงาน เนื่องจากคนในทีมที่มารวมกันนั้นมีความแตกต่างกันหลายอย่าง
- Knowledge ความรู้
- Skill (Hard skills /Soft skills) ทักษะ
- Attitude ทัศนคติที่มีต่องานและต่อทีมงานคนอื่นๆ
ที่มาของ Attitude ก็มาจาก Frame of Reference ที่ต่างกันไป อาจแยกย่อยเป็น
- Value การให้คุณค่า
- Belief ความเชื่อ
- Need ความต้องการ
- Fear ความกลัว
- Personality บุคลิกภาพแต่ละคนในทีมที่ปรากฏให้คนอื่นเห็น
ความต่างทั้งหลายเหล่านี้เองที่มักเป็นทั้งอุปสรรค และ โอกาส สำหรับทีม ในแง่ของโอกาส การทำงานเป็นทีมเป็นการขยายขอบเขตของงานให้ใหญ่ขึ้น ละเอียดขึ้น สร้างสรรค์ขึ้น ในแง่อุปสรรคนั้นเมื่อมีความหลากหลายรวมทั้งความขัดแย้งตามมา ทั้งความขัดแย้งในใจแต่ละคน และความขัดแย้งระหว่างกัน ซึ่งอาจมีผลเสียต่องานของทีม แต่อย่างไรก็ดีผู้เขียนเชื่อว่าความขัดแย้งหรือความเครียดระดับเหมาะสมจะทำให้เกิด Optimum Productivity ให้กับองค์กร และการก้าวข้ามความขัดแย้งเหล่านี้ต้องอาศัยความตระหนักรู้ในตัวเองและความเข้าใจในผู้อื่นที่มากขึ้น รวมทั้งทักษะที่จำเป็นเพื่อสร้างบรรยากาศที่ไม่ทำให้คนรู้สึกถูกกดทับทางความคิด และมีกำลังใจทำงานต่อไป
จากประสบการณ์ของผู้เขียน สิ่งจำเป็นที่สมาชิกในทีมต้องเข้าใจตรงกันก่อน เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิผลมากที่สุดคือ
- รู้เป้าหมายที่ต้องการไปถึง
- รู้เขารู้เราคือหมายถึง เราแต่ละคน ต้องรู้ว่าคนในทีมมีหน้าที่อะไร ในขณะที่เราทำงานเราต้องมีภาพของทีมที่ทำงานในส่วนอื่นอยู่ในหัวไปด้วย เพราะทุกการกระทำของเราย่อมส่งผลกับทีมรวม และทุกการกระทำของทีมก็ส่งผลกับเราเช่นกัน ที่สำคัญเมื่อมีคนใดคนหนึ่งในทีมไม่สามารถทำหน้าที่ของเขาได้และจะมีผลกระทบเป้าหมายของทีม สมาชิกคนอื่นๆต้องเข้ามาแทนที่ หรือช่วยเหลือเพื่อให้งานยังอยู่ใน Track ของมัน
- รู้จักให้อภัยและช่วยกันแก้ปัญหา มุ่งที่ผลลัพธ์ ไม่มุ่งหาคนผิด “ผลงานเป็นเรื่องของทีมฉันใด ความผิดพลาดก็เป็นเรื่องของทีมฉันนั้น”
จากนั้นเมื่อร่วมทีมกันแล้ว ทักษะที่จำเป็นในการขับเคลื่อนทีมไปข้างหน้าและรักษาความสัมพันธ์ของทีมไว้ ในระดับที่จะทำให้เกิด Optimum Productivity ประกอบไปด้วย
- การฟัง ( Active Listening )
- การโค้ช ( Coach ) เป็นการฟัง ถาม สะท้อน ผู้เขียนมักใช้เทคนิคนี้ในการกระตุ้นให้ผู้ร่วมทีมได้คิดและเข้าใจการทำงานด้วยตัวของเขาเอง โดยหลีกเลี่ยงการบอกกล่าว หรือใช้คำสั่ง เพราะนอกจากไม่ได้ฝึกให้เขาคิดเองแล้ว ยังเป็นการกดทับทางความคิดอีกด้วย
- Constructive feedback สมาชิกในทีมควรมีอิสระในการให้ Feedback ในเชิงสร้างสรรค์ แก่เพื่อนๆในทีม เพื่อให้เกิดการปรับปรุงงานให้ดีขึ้น
- การให้กำลังใจกันเชิงบวก เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ทีมก้าวข้ามอุปสรรคในการทำงานไปได้ อีกทั้งเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงทางใจระหว่างกันอีกด้วย
การทำงานเป็นทีมไม่ใช่เรื่องยากเกินไป แต่ก็ท้าทายสำหรับบางคน ผู้เขียนเคยร่วมงานกับทีมที่หลากหลาย ถ้าวันไหนได้ทีมดี วันนั้นจะมีพลังและได้ความสุขเอากลับไปใช้ที่บ้านอีกหลายวันทีเดียว
อัสมาลิน ไพโรจน์กุล
Crew In Charge
โค้ช ACC (ICF)