Action Learning: Relationship and Trust

ความสัมพันธ์ของสมาชิกในทีมทำงานมีความสำคัญทั้งกับกระบวนการและการทำงาน องค์กรที่มีเป้าหมาย มีกลยุทธ์ และทีมมืออาชีพ เพียงเท่านี้ไม่เพียงพอที่จะประสบความสำเร็จได้ เพราะกุญแจสำคัญที่จะขับเคลื่อนอยู่ที่คุณภาพของความสัมพันธ์ของคนเหล่านี้ ซึ่งในที่นี้ไม่ได้หมายความถึงการรักใคร่สนิทสนม หรือทำงานเหมือนเป็นคนในครอบครัวตามที่คนไทยส่วนใหญ่คิด หรือที่ครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีนมักคุ้นเคย เนื่องจากสร้างธุรกิจมาจากแรงของสมาชิกในบ้านเป็นหลัก ผู้เขียนไม่ได้ต่อต้านความกลมเกลียวแบบนี้ หากแต่ยังมีความสัมพันธ์แบบอื่น ๆ ที่สร้างประโยชน์ได้เช่นกัน

จากประสบการณ์การทำ Session ผู้เขียนพบว่าการสร้างความสัมพันธ์มีความสำคัญมากที่จะทำให้สมาชิกไว้วางใจซึ่งกันและกัน และแม้ว่าในกระบวนการโค้ชของ Action Learning การละลายน้ำแข็งไม่ได้เป็นข้อกำหนดโดยตรง แต่หากได้จัดเวลาเพื่อเรื่องนี้ ก็จะเป็นการปูพื้นฐานของ Trust ให้เกิดในทีมได้

ดังนั้น หากมีเวลาช่วงก่อนเริ่มโค้ช ผู้เขียนจะใช้เวลากับ Ice Breaking เล็ก ๆ น้อย ๆ ซึ่งถือว่าเป็นช่วงเวลาไม่นานที่คุ้มค่า เช่น ให้สมาชิกช่วยกันขบคิดในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือ ตั้งโจทย์ที่เกี่ยวเนื่องกับกระบวนการที่จะทำ หรืออาจะเล่นเกมถามคำถามปลายเปิด ซึ่งก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่สมาชิกมักจะรู้สึกอยากเข้าร่วม เหมือนเป็นการอุ่นเครื่อง พร้อมทั้งสร้างความคุ้นเคยระหว่างสมาชิกก่อนที่จะเริ่มต้น แต่นี่ก็เป็นเพียงจุดเริ่มต้นจริง ๆ

นอกจากการละลายน้ำแข็งที่เราไม่ได้ให้เวลานานนัก จุดสำคัญของการสร้างสัมพันธ์ที่มีคุณภาพอยู่ที่ในกระบวนการหลัก Action Learning มากกว่า

เมื่อทุกคนได้ตั้งคำถามและตอบคำถามของสมาชิก โดยมีเป้าหมายอยู่ที่การร่วมมือกันค้นหาปัญหาที่แท้จริง ปฏิสัมพันธ์จะเริ่มเกิดขึ้นตามธรรมชาติ ยิ่งถ้าคำถามกระจายออกไปสู่สมาชิกอย่างทั่วถึง และสะท้อนแลกเปลี่ยนระหว่างกันมากเท่าไร ผู้เขียนสังเกตได้ว่าความกระตือรือร้นจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น การเว้นระยะเกรงใจก็จะลดน้อยลง ส่งผลให้เกิดความลื่นไหลต่อเนื่อง

ข้อนี้ได้แรงเสริมจากกฎพื้นฐาน ที่กำหนดให้พูดเมื่อตอบคำถาม ทำให้สมาชิกละเว้นการแสดงความเห็น โต้แย้ง โน้มน้าว หรือสรุปความ เปิดโอกาสให้ได้สืบค้นอย่างเต็มที่โดยไม่มีการตัดสิน เมื่อปล่อยวางถูก-ผิดที่อาจเกิดจากความเห็นลงก็ก่อให้เกิดการไว้วางใจซึ่งกันและกันมากยิ่งขึ้น ทุกคนเต็มใจที่จะถาม ตอบ ด้วยความสบายใจ ซึ่งในความคิดของผู้เขียน ทั้งหมดนี้เป็นความสัมพันธ์ที่เกิดจากการทำงานเพื่อทีม และเพื่องานอย่างแท้จริง

นอกจากนั้น เมื่อโค้ชตั้งคำถามเพื่อการเรียนรู้และกลุ่มจะต้องหาแนวทางปรับปรุงการทำงานเพื่อให้ทั้งทีมทำงานร่วมกัน มุ่งสู่การค้นหาปัญหาได้ดีขึ้น สมาชิกก็ได้ร่วมแสดงความเห็นเพื่อส่วนรวมอีกครั้ง โดยโฟกัสว่าอะไรที่จะช่วยให้ทีมดีขึ้นจริง ๆ ถือเป็นการสร้างสัมพันธ์โดยอ้อม เพื่อให้ทุกคนมองไปที่ประโยชน์มากกว่าตนเอง การชวนมองเช่นนี้เป็นการแก้ปัญหาที่ตัวปัญหาโดยตรง ไม่เปิดโอกาสให้กล่าวโทษกัน และไม่เพ่งที่ตัวบุคคล

แม้ในการทำงานอาจพบว่ามีบางทีมที่มีความติดขัดบ้าง เครื่องติดช้าบ้าง หรือลำเอียงมุ่งถามที่สมาชิกคนใดคนหนึ่งบ้าง แต่โค้ชก็ไม่ลืมที่จะทำหน้าที่ Intervene ตรงส่วนนี้ด้วย เพราะรู้ถึงประโยชน์ที่ทุกคนจะได้รับหากเกิดความสัมพันธ์ที่มีคุณภาพ

ผู้เขียนซึ่งทำหน้าที่เป็นโค้ชมักจะแอบยิ้มในใจกับปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นจากการทำงานแบบนี้เสมอ โดยในตอนจบ Session หลายคนสะท้อนว่าในชีวิตการทำงานไม่ได้คุยกันแบบนี้มาก่อนเลย บางท่านก็บอกว่า ถ้าได้เราคุยกันมากขึ้นก็คงจะดีกว่านี้ และหลายท่านสรุปการนำไปใช้งานว่าจะนำเรื่องที่ได้เรียนรู้จากความสัมพันธ์นี้ไปใช้อย่างจริงจัง

Action Learning สร้างคุณภาพของความสัมพันธ์ และคงความเป็นมืออาชีพให้กับทีม


นพวรรณ โพสพสวัสดิ์

Certified Action Learning Coach, WIAL

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *