1) i Message
เพราะเหตุใดทฤษฎีการสื่อสารจึงเน้นหลักการของการสื่อสารจากตัวเองเป็นหลัก โดยใช้คำพูดที่มีตัวของเราเป็นประธานในประโยค
การพูดเฉพาะในส่วนของตัวเองนี้ ทำให้เกิดความเข้าใจ และลดความขัดแย้งในการสื่อสารได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะประโยคของเราจะไม่ได้พาดพิงถึงบุคคลอื่น โดยเฉพาะคู่กรณี ยิ่งในเคสที่ความคิดเห็นไม่ตรงกันอยู่แล้ว ก็อาจก่อให้เกิดการใช้คำที่กล่าวหา กล่าวโทษ หรือล่วงละเมิดสิทธิ์บางอย่างของเขา และเป็นธรรมดาที่อีกฝ่ายจะต้องลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิ์ของเขา จึงก่อให้เกิดความสับสนในการสื่อสาร เนื่องจากถึงตอนนี้เนื้อความก็ไม่เห็นได้ชัดเจนอีกต่อไปแล้ว ข้อความเต็มไปด้วยการปกป้อง และโต้ตอบ
การพูดออกมาจากตัวเองในความเห็นของผู้เขียน นอกจากจะช่วยป้องกันการเกิดเหตุดังกล่าวมาแล้ว ยังทำให้ผู้ที่เป็นเจ้าของสารรู้จักตัวเองได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพราะการสื่อสารแบบนี้ผู้พูดจะต้องกลับมาย้อนดูเสียก่อนว่าแท้ที่จริงนั้น เรามีความรู้สึกอย่างไร และเราต้องการอะไร
ช่วงเวลานี้สำคัญเป็นอย่างยิ่ง เมื่อเราฝึกทวนกลับเข้ามาในตัวเอง ไม่รีบส่งออกไปข้างนอกตามความเคยชิน จะทำให้เราค้นพบคุณค่าที่เป็นเนื้อแท้ของตัวเอง ยกตัวอย่าง เช่น เมื่อเรารู้สึกว่าหัวหน้าไม่ออกนโยบายที่เอื้อในการทำงาน ก็มักแสดงพฤติกรรมหงุดหงิดเมื่อคุยกับหัวหน้า รู้สึกว่าไม่ได้รับความยุติธรรม ประโยคที่พูดออกไปกับหัวหน้าจึงเต็มไปด้วยการกล่าวหา การเรียกร้องความเป็นธรรม และอาจจะขยายวงไปสู่คัดค้านในเรื่องอื่น ๆ ด้วย
การสนทนาแบบนี้มักจะบานปลาย เพราะเนื้อความจริง ๆ ถูกบดบังเอาไว้ใต้อารมณ์ความรู้สึกและข้อความที่อยู่เพียงด้านบน หากผู้พูดได้หันกลับมาถามตัวเองว่าที่เราโต้ตอบจนดูเหมือนกับโจมตีอีกฝ่ายนั้น เป็นเพราะอะไรในตัวเรากันแน่ เขาก็จะรับรู้ว่าความต้องการนั้น อาจเป็นเพียง ความต้องการให้หัวหน้ารับฟังความเห็น, ต้องการการสนับสนุน, ต้องการให้งานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ฯลฯ
จะสังเกตได้ว่า ลึกลงไปในความต้องการที่แท้จริง มีความเป็นกลาง มีความตั้งใจที่ดีอยู่ในนั้น แต่กลับไม่ได้แสดงออกอย่างตรงไปตรงมา
การใช้ i Message จึงเป็นแนวทางที่ทำให้ความเป็นจริงได้เปิดเผยออกมาอย่างจริงใจ ทำให้ผู้พูดเข้าใจตัวเองได้ในระดับลึก และทำให้ผู้ฟังรับสารได้ตรง มีความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจ และไม่ต้องใช้พลังงานไปกับการป้องกันตัวเอง จนนำไปสู่การหาทางออกร่วมกันได้
นพวรรณ โพสพสวัสดิ์ Professional Certified Coach, ICF