I Message ตอน 2

1) พูดอย่างไรตือ i Message

ผู้เขียนมีความเห็นเกี่ยวกับการพูดประโยคที่เป็น i Message หรือประโยคที่เป็นตัวแทนของผู้พูด ว่าควรมีขั้นตอนเกี่ยวข้อง จึงจะทำให้การพูดนั้น มีความหมายตรงกับสิ่งที่ต้องการสื่อสารซึ่งมาจากความต้องการที่แท้จริง ที่เป็นตัวตนของคน ๆ นั้น การพูดตามสคริปต์ก็อาจทำได้ แต่จะขาดความจริงแท้และอาจส่งผลให้การสื่อสารไม่ได้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการได้

ขั้นแรก คือการกลับเข้ามารับรู้ความรู้สึก และความต้องการที่มีอยู่จริงภายในของตนเอง ควรให้เวลาตกผลึกว่าเรื่องที่จะสื่อสารนั้น ลึก ๆ แล้วมาจากความรู้สึกอะไรของเรา และมีความต้องการอะไรอยู่ในนั้น ความท้าทายในช่วงนี้ก็คือ หากผู้พูดอยู่สถานการณ์ที่มีความขัดแย้ง ก็จะทำให้หาได้ลำบากขึ้น เพราะกว่าที่จะเข้าไปรู้เบื้องลึกได้นั้น ต้องผ่านด่านของความรู้สึกที่อยู่ด้านบนไปเสียก่อน เช่น ความโกรธ หงุดหงิด เบื่อ เซ็ง ท้อใจ ฯลฯ ที่มีต่อสถานการณ์หรือต่อคู่สนทนา

จากประสบการณ์ที่ผู้เขียนได้ทำงานในแวดวงการโค้ช พบว่าความรู้สึกด้านบนที่กล่าวมาแล้ว เป็นเพียงด่านหน้าที่คนเราแสดงออก เสมือนเป็นเกราะปกป้องความรู้สึกที่แท้จริงเอาไว้อีกชั้น หากให้เวลาค้นหาว่าที่เราโกรธหรือท้อใจนั้นเป็นเพราะพฤติกรรม/คำพูดอะไรของเขา และมากระทบกับความเป็นเราที่จุดไหน ตรงไหน ก็จะพบความรู้สึกอีกอย่างซ่อนเอาไว้ เช่น ผู้บริหารโกรธพนักงานที่มีท่าทีเอาเปรียบบริษัท พอสืบค้นว่าเรื่องที่เขาทำกระทบเราตรงไหนบ้าง ผู้บริหารก็อาจพบว่ากระทบที่เรากับเขาให้ไม่เท่ากัน บริษัทให้ผลประโยชน์แก่พนักงานอย่างเต็มที่ แต่พอมีโอกาสบางอย่าง พนักงานกลับมีท่าทีที่จะฉกฉวย โดยไม่คำนึงถึงบริษัทและสิ่งที่เคยได้รับไปตั้งมากมายนั้นเลย ผู้อ่านอาจะเริ่มเห็นได้ว่า ความรู้สึกในตรงนี้คือ ความน้อยใจ ต่างหาก

ขั้นต่อมา คือ การลองพูด/ซ้อมประโยคนั้นก่อนพูดจริง เพื่อที่จะได้พอรู้ว่าหากผู้ฟังฟังแล้วจะเข้าใจอย่างไร ตรงกับสิ่งที่ต้องการสื่อสารหรือไม่ โดยใส่องค์ประกอบที่สำคัญเข้าไป ประกอบด้วย ความรู้สึกที่แท้จริง (ที่อยู่ใต้ความโกรธ เช่น น้อยใจ หรืออึดอัดใจ), ความต้องการหรือสิ่งที่อยากได้ (ความเท่าเทียม), สิ่งที่อยากให้อีกฝ่ายทำ และเหตุผลประกอบ

เช่น ผู้บริหารอาจใช้ประโยคคำพูดว่า “เรื่องเบิกค่าล่วงเวลาที่คุณขอมานั้น ผมรู้สึกอึดอัดใจ เนื่องจากบริษัทได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อยู่ ผมอยากให้มีความยุติธรรมกับทั้งสองฝ่ายด้วย คือบริษัทก็อยู่ได้ และพนักงานมีรายได้ อยากให้คุณทำงานโปรเจ็กต์นี้ให้เสร็จภายในเวลาทำการจะได้ไหม …”

การใช้ประโยค i Message ให้บ่อยขึ้น จะทำให้เรื่องราวตรงไปตรงมามากยิ่งขึ้น ดีกว่าปล่อยให้อารมณ์ที่อยู่ด้านบน ๆ พัดพาไปจนไกลกว่าความเป็นจริง เช่น หากผู้บริหารไม่ให้เวลาค้นหาความต้องการลึก ๆ แล้ว ก็จะตอบสนองไปด้วยความโกรธ เพราะความโกรธอยู่บนสุด เช่น อาจต่อว่าพนักงานว่าเห็นแก่ตัว ถึงตอนนี้ก็คงพอจะคาดเดาผลที่จะตามมาได้

การให้ความสำคัญในเรื่องนี้ ทำให้เกิดความจริงมากยิ่งขึ้นในที่ทำงาน ความเป็นจริงย่อมจะนำประโยชน์มาให้มากกว่าสิ่งที่คลุมเครือซับซ้อน ลองมาค่อย ๆ สร้างเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นด้วยประโยคที่สื่อข้อความจากตัวเรากันดีไหม


นพวรรณ โพสพสวัสดิ์ Professional Certified Coach, ICF

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *